Must Read List – หนังสือน่าอ่าน

CGI received many interesting books from friends of our library.
These books contain valuable content and neatly created by experts on selected topics.
CGI Learning Center compiles a list of these books for our readers to enjoy reading from attractive printed editions,
with beautiful illustrations and well written language.

ตั้งแต่เดือนมกราคม 2557 ศูนย์การเรียนรู้ได้เริ่มดำเนินการคัดเลือกสิ่งพิมพ์อภินันทนาการที่มีคุณค่าทางเนื่้อหา
โดยจัดแสดงนิทรรศการที่ศูนย์การเรียนรู้ และริเริ่มการจัดทำหน้า Must read หนังสือน่าอ่าน พร้อมจัดทำบรรณนิทัศน์
เพื่อสร้างตระหนักในการอ่านเพื่อการเรียนรู้เรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสังคมไทย

2020

March 2020

รายงานฉบับสมบูรณ์ “โครงการแผนแม่บทมาตรฐานการิจัยในคน (พ.ศ. 2563 – 2568)”

โครงการแผนแม่บทมาตรฐานการิจัยในคน.jpg
    รายงานฉบับสมบูรณ์ “โครงการแผนแม่บทมาตรฐานการิจัยในคน พ.ศ. 2563 – 2568)” โดยศูนย์จริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการทบทวนบริบทมาตรฐานการวิจัยในคนทั้งในและต่างประเทศ ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวิจัยในคน พบว่าประเด็นปัญหาที่ทำงานวิจัยในคนของประเทศไทยยังไม่ได้มาตรฐาน มีสาเหตุที่สำคัญจาก
    1) ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องวิจัยในคน (สถาบันผู้สนับสนุนทุนวิจัย คณะกรรมการจริยธรรมฯ ผู้วิจัย อาสาสมัคร รวมถึงผู้กำกับและตรวจสอบการวิจัย) บางส่วนยังขาดความตระหนักถึงความสำคัญ ไม่มีข้อกำหนดบทบาทและภาระหน้าที่ในการดำเนินการวิจัยในคนที่ได้มาตรฐาน ตามบริบทของความเสี่ยงในการดำเนินการวิจัยในคน
    2) ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงเพื่อกำกับการวิจัยในคน

    ทั้งนี้รายงานฉบับนี้เป็นการดำเนินการครั้งแรกอาจมีข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตนั้นไม่ได้มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรที่สืบค้นได้ ข้อมูลจึงได้มาจากการบอกเล่า ถอดความจากผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ริเริ่มมาตรฐานการวิจัยในประเทศมา แต่ก็เป็นความพยายามที่ดีที่สุดในขณะนี้ที่ได้รวบรวมข้อมูลเหล่านี้มาประกอบการเขียนแผนแม่บทนี้ขึ้น

2018

January 2018

จริยธรรมการวิจัยในมนุษย์

จริยธรรมการวิจัยในมนุษย์.jpg
    หนังสือ “จริยธรรมการวิจัยในมนุษย์” โดยนายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน เป็นการรวมรวบข้อเขียนต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ หลักการสำคัญของการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์คือ “เคารพในศักดิ์ศรีของบุคคล” เป้าหมายของการศึกษาวิจัยจะต้องไม่เหนือกว่าสุขภาพ สุขภาวะ และการดูแลอาสาสมัครในการวิจัย
    ทุกการวิจัยในมนุษย์ ควรดำเนินการตามหลักจริยธรรมพื้นฐาน 4 ประการ ได้แก่
    1) หลักการเคารพในบุคคล (Respect for Persons)
    2) หลักผลประโยชน์ (Beneficence)
    3) หลักการไม่ก่ออันตราย (Non-maleficence)
    4) หลักความยุติธรรม (Justice)

    หนังสือเล่มนี้ นอกจากจะนำเสนอประวัติความเป็นมาและหลักจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ทั้งในระดับสากลและของประเทศไทยโดยสังเขปแล้ว แนวทางและกรณีศึกษาต่างๆ จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ จนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้พอสมควร ทั้งในฐานะผู้วิจัย กรรมการจริยธรรมการวิจัย อาสาสมัครวิจัยและผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ


2016

December 2016

คู่มือไม้มงคล ไม้พระราชทานประจำจังหวัด การปลูกและดูแลรักษาต้นไม้

คู่มือไม้มงคล.jpg
    คู่มือไม้มงคล ไม้พระราชทานประจำจังหวัด การปลูกและดูแลรักษาต้นไม้
    หนังสือคู่มือไม้มงคล ไม้พระราชทานประจำจังหวัด การปลูกและดูแลรักษาต้นไม้เล่มนี้ จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับต้นไม้อันเป็นมงคล รวมทั้งเป็นคู่มือแก่ผู้สนใจในการปลูกและดูแลรักษาต้นไม้

    เนื้อหาภายในหนังสือเล่มนี้ประกอบไปด้วยเรื่องราวของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถกับสิ่งแวดล้อม วิกฤตการณ์โลกร้อน ภูมิศาสตร์ภาคเหนือ ป่าไม้ความสมดุลที่รอการอนุรักษ์ ป่าไม่กับชุมชน ต้นไม้ในพระพุทธศาสนา ไม้มงคลที่ใช้ในพิธีวางศิลาฤกษ์ ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัด การปลูกต้นไม้ตามหลักฮวงจุ้ย และการปลูกไม้ยืนต้นและการดูแลรักษา

July 2016

พระมหากษัตริย์ไทยกับพระพุทธศาสนา

พระมหากษัตริย์ไทยกับพระพุทธศาสนา.png
    พระมหากษัตริย์ไทยกับพระพุทธศาสนา
    เป็นสารคดีเชิงประวัติศาสตร์บอกเล่าเรื่องราวบทบาทของพระมหากษัตริย์ไทยในฐานะอัครศาสนูปภัมถกของพุทธศาสนา นับตั้งแต่ที่พุทธศาสนาเผยแผ่เข้ามาสู่ดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน นับตั้งแต่สมัยสุโขทัยและล้านนา กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์

    นอกเหนือจากเนื้อหาความยาว 299 หน้า ที่เป็นสารคดีเชิงประวัติศาสตร์ที่มีเนื้อหาน่าสนใจ อ่านง่าย ให้สาระ เรียบเรียงโดย ดร.ดินาร์ บุญธรรมแล้ว ยังประกอบด้วยรูปภาพที่ทรงคุณค่า ทั้งภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งเป็นภาพหน้าปกและภาพนำในหนังสือ รวมถึงภาพเขียนของศิลปินแห่งชาติ อ.ถวัลย์ ดัชนี อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ อ.กมล ทัศนาชลี ฯลฯ อีกทั้งภาพสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาในประเทศไทยและต่างประเทศ

    หนังสือ “พระมหากษัตริย์ไทยกับพระพุทธศาสนา” เกิดจากการริเริ่มของดร.อำนวย วีรวรรณ ซึ่งได้เป็นบรรณาธิการจัดพิมพ์ ด้วยการสนับสนุนของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ และภาคี

May 2016

ธัมมะประดับใจ

ธัมมะประดับใจ.jpg
    ธัมมะประดับใจ
    ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา กรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดรายการ “ธรรมะประดับใจ” ออกอากาศทางสถานีวิทยุศึกษาเป็นประจำ ในรายการภาคบ่าย อาราธนาสมเด็จพระญาณสังวร (สุวฑฺฒโน) เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เขียนบทธรรมะสำหรับประชาชนทุกวันฟังละ 5-10 นาที รายการนี้ได้รับความสนใจจากผู้ฟังเป็นอันมาก วิทยุศึกษาจึงได้รวบรวมคำบรรยาย “ธรรมะประดับใจ” จะเป็นหนังสือน่าอ่าน น่าศึกษาเล่มหนึ่ง ซึ่งจะช่วยเสริมปัญญาจริยธรรมทั้งยังจะเป็นแนวทางในการบริหารจิตใจตนเอง และการปฏิบัติต่อผู้อื่นตามหลักธรรมะที่ถูกต้องต่อไป

April 2016

คู่มือ Cyber Security สำหรับประชาชน

คู่มือ-Cyber-Security-สำหรับประชาชน.jpg
    คู่มือ Cyber Security สำหรับประชาชน
    การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตหรือที่เรียกว่าการ “ออนไลน์” หรือการเข้าสู่โลกไซเบอร์ นั้นมีประโยชน์และสร้างความสะดวกอย่างมหาศาลในชีวิตประจำวันได้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่ในทางกลับกันก็เป็นช่องทางให้อันตราายต่าง ๆ ที่เรานึกไม่ถึงเข้ามาถึงตัวเราหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ รอบตัวเราได้ตลอดเวลาโดยที่เราไม่รู้ตัว เราจึงควรรู้จักและเข้าใจวิธีการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอย่างถูกต้องปลอดภัย รวมถึงข้อควรระวังหรือวิธีการแก้ไขเมื่อเกิดปัญหา เพราะภัยออนไลน์ในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้น เราจึงควรป้องกันตัวมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งในหนังสือ Cyber Security เล่มนี้ มีทั้งหลักการ ข้อแนะนำ และขั้นตอนที่สามารถปฏิบัติตามได้เมื่อเกิดปัญหาต่าง ๆ ทั้งในอุปกรณ์ระบบปฏิบัติการ iOS และ Android

March 2016

พระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์

พระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์.jpg
    พระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์
    หนังสือ “พระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์” เป็นหนังสือที่ระลึกในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินการพิธีสมโภช โดยภายในหนังสือนำเสนอเรื่องราวของพระพุทธศาสตร์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ อันนำมาซึ่งการสร้างพระพุทธรูปที่เปรียบเสมือนสิ่งแทนความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ตลอดจนความเป็นมาของโครงการและรายละเอียดต่าง ๆ ของโครงการ พระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์เป็นดั่งอนุสรณ์ที่สะท้อนถึงความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาและนิมิตหมายแห่งความรุ่งโรจน์ในผืนแผ่นดินไทย อีกทั้งแสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่นำมาซึ่งความร่มเย็นเป็นสุขของไพร่ฟ้าภายใต้พระบรมโพธิสมภารแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ด้วย

Febuary 2016

อ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร

อ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร.jpg
    อ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
    หนังสือ “อ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร” เป็นหนังสือประมวลคำที่มักมีผู้อ่านผิดและเขียนผิด ราชบัณฑิตยสถานจึงได้รวบรวมคำต่าง ๆ ที่มักอ่านกันไม่ถูกต้อง โดยพิมพ์คำอ่านตามหลักไว้ลำดับแรก และคำอ่านตามความนิยมไว้ลำดับที่ ๒ นอกจากนี้ยังได้รวบรวมการอ่านพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ พระนามาภิไธยและพระนามของพระบรมวงศานุวงศ์ คำสามานยนามที่สำคัญ ชื่อจังหวัด เขต อำเภอ แขวง ตำบล (เฉพาะบางจังหวัด) ถนน ตรอก ซอย (เฉพาะบางชื่อ) ในกรุงเทพมหานคร ชื่อพระอารามหลวงต่าง ๆ เครื่องราชอิสริยาภรณ์บางตระกูล การอ่านพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ การอ่านตัวเลข และการอ่านเครื่องหมายต่าง ๆ เอาไว้ด้วย
    อภินันทนาการจาก ห้องสมุดสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์

หนังสือชุดนวราชมงคล

หนังสือชุดนวราชมงคล1.jpg หนังสือชุดนวราชมงคล2.jpg หนังสือชุดนวราชมงคล3.jpg
    หนังสือชุดนวราชมงคล เนื่องในโอกาสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ ๕ รอบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น จึงจัดทำหนังสือเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน ๓ เล่ม ได้แก่
    “นวราชมงคล สิริดล ตามรอยพระบาท”
    หนังสือ “นวราชมงคล สิริดล ตามรอยพระบาท” เป็นการรวบรวมและนำเสนอผลงานที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ร่วมสนองงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านต่าง ๆ ทั้งโครงการที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของประชาชน การศึกษา และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
    “นวราชมงคล สิริราษฎร์ เขษมสมัย”
    หนังสือ “นวราชมงคล สิริราษฎร์ เขษมสมัย” ได้รวบรวมและนำเสนอผลงานที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลได้ร่วมสนองงานในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ) อันได้แก่ การรวบรวมและพัฒนาสายพันธุ์พืชพื้นเมือง พืชสมุนไพร จากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืช
    “นวราชมงคล สิริไทย ทิพศิลป์”
    สมุดจดบันทึก “นวราชมงคล สิริไทย ทิพศิลป์” เป็นการรวบรวมงานศิลป์และพระกระยาหารที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลได้รับพระบรมราชานุญาตให้จัดเตรียมถวาย และสนองงานตามพระราชดำริ ในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินมายังมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล

    อภินันทนาการจาก รศ. ดร.พินิติ รตะนานุกูล

January 2016

สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน.jpg
    หนังสือ สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน
    หนังสือ สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรเดนมาร์ก ซึ่งเริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2164 เรือสินค้าเดนมาร์กเดินทางมาถึงเมืองตะนาวศรีในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม แห่งกรุงศรีอยุธยา ความสัมพันธ์ระหว่างสองราชอาณาจักรได้สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
    อภินันทนาการจาก บริษัท อี๊สต์เอเชียติ๊ก (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (ห้องสมุดสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ มอบให้ศูนย์การเรียนรู้)

2015

December 2015

สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ.jpg
“สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ รวม 4 ภาค เป็นหนังสือที่มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาค้นคว้าอ้างอิงและสืบค้นข้อมูลต่าง ๆ อย่างสมบูรณ์ เกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรม ภาษา ประวัติศาสตร์ การแสดงและการละเล่น การปกครองและสังคม สถานที่สำคัญ อาชีพ ความเชื่อและประเพณี บุคคลสำคัญ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบบการชั่งตวงวัด และกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นต้น จึงเป็นหนังสือที่มีคุณค่ายิ่งที่จะช่วยปลุกเยาวชนให้สำนึกถึงความเป็นชาติไทย รู้สึกหวงแหนศิลปะและวัฒนธรรมและเป็นการสืบสานภูมิปัญญาไทยให้เคียงคู่กับชาติไทยสืบไป”

องค์ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการ มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์

    สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ
    สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ เป็นแหล่งรวม “รีตบ้านรอยเมือง” หรือภูมิปัญญาในภูมิภาควัฒนธรรมล้านนา หรือเป็นงานประมวลข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับวัฒนธรรมของกลุ่มชนในขอบเขตวัฒนธรรมล้านนาหรือภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย เป็นสิ่งที่ปรากฏทั้งในหมู่บ้านและในเมือง อีกทั้งยังได้สืบทอดสร้างเสริมกันสืบมา ทั้งที่ปรากฏเป็นรูปแบบให้มองเห็นและรูปแบบที่เชื่อถือหรือแสดงออกร่วมกัน รวมถึงกิจกรรมหรือพฤติกรรมของคนในเขตดังกล่าว ตลอดไปถึงทรัพยากรบุคคลและสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดจากเขตภูมิภาควัฒนธรรมนี้ โดยเน้นที่กลุ่มชนซึ่งพูดภาษาล้านนาและกลุ่มชนที่อยู่ในขอบข่ายของอาณาจักรล้านนามาแต่โบราณ และนอกเหนือจากที่จะกล่าวถึงวัฒนธรรมของคนเผ่าไทยวนแล้ว ยังจะเชื่อมโยงไปถึงชนในกลุ่มไทลื้อ ไทเขิน และไทใหญ่ ตลอดจนชนกลุ่มน้อยที่เกี่ยวข้อง หากจะกล่าวในแง่ภูมิศาสตร์ปัจจุบันแล้ว งานในสารานุกรมฯนี้ จะเป็นประมวลความรู้ที่ครอบคลุมพิ้นที่ในเขตจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน แพร่ แม่ฮาองสอน ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ และบริเวณชายขอบประเทศไทยทางภาคเหนือซึ่งเชื่อมต่อเขตเชียงตุง เชียงรุ่ง และหลวงพระบาง
    ในการอธิบายรายละเอียดแต่ละเรื่องของสารานุกรมนี้ จะใช้ภาษาไทยกลางในการสื่อสาร แต่วิธีการนำเสนอจะเป็นแบบนำความจากข้างในไปสู่ข้างนอก คือนำเรื่องในท้องถิ่นออกมาอธิบายตามที่ปรากฏในความเข้าใจแบบล้านนา หัวเรื่องที่จะต้องอธิบายนั้นเป็นชื่อเรื่องหรือเรื่องในท้องถิ่นที่เป็นศัพท์ของถิ่นเหนือ
    สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (2542) จำนวน 15 เล่มเล่ม 1 กก – ไกรศรี นิมมานเหมินท์, นาย; เล่ม 2 ขน – ค่ายโสณบัณฑิตย์; เล่ม 3 คำ – เจ้า; เล่ม 4 เจ้าขันทั้งห้า – ดอยหลวง, กิ่งอำเภอ; เล่ม 5 ดอยหลวง, อุทยานแห่งชาติ – ทองดี โพธิยอง, นาง; เล่ม 6 ทองแสนขัน, อำเภอ – น้ำพริกอี่เก๋; เล่ม 7 น้ำพุร้อน – ปางมะผ้า, อำเภอ; เล่ม 8 ปางหมู,วัด – พระธาตุ; เล่ม 9 พระธาตุขวยปู, วัด – ไฟไหม้, หวาน; เล่ม 10 ภักดีราชกิจ, พระยา – ยอย; เล่ม 11 ยักขินี – ลี้, อำเภอ; เล่ม 12 ลี้ – ส่งชน; เล่ม 13 ส่งแถน – สุวัณณจักกวัตติราช; เล่ม 14 สุวัณณะจักก่าตำ – เหตุหื้อวินาสฉิบหาย; เล่ม 15เหตุหื้อเสียยส – แฮริส, ศาสนาจารย์ ดร.วิลเลียม
    สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (ฉบับเพิ่มเติม) (2554) จำนวน 3 เล่มเล่ม 1 กกฝ้ายลาย – ตำนานเชียงแสน/พื้นเมืองเชียงแสน/ตำนานเมืองเชียงแสน (ขึนทึงและขุนเจือง); เล่ม 2 ตำนานดอยเกิ้ง – ภิกขุณี; เล่ม 3 ม้ง – ฮม้ง (แม้ว) – ฮายดอก/ฮายลาย

    สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคอีสาน
    สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคอีสาน เป็นประมวลองค์ความรู้ทางด้านวัฒนธรรมที่ปรากฏอยู่ในภูมิภาคอีสานทุกกลุ่มวัฒนธรรม ครอบคลุมพื้นทีราบสูงโคราชทั้งหมด นับตั้งแต่เทือกเขาดงพระยาเย็นและเทือกเขาเพชรบูรณ์ไปจดฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งมีประชากรกว่า 20 ล้านคน ในพื้นที่ 19 จังหวัด
    หากพิจารณาความแตกต่างด้านวัฒนธรรมภาษาที่ใช้อยู่ในภูมิภาคอีสาน จะจัดได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ 1) กลุ่มวัฒนธรรมไทย-ลาว คือ กลุ่มชนที่พูดภาษาถิ่นอีสาน อันเป็นภาษาไทยถิ่นสาขาหนึ่ง 2) กลุ่มวัฒนธรรมเขมร-ส่วย เป็นกลุ่มชนที่พูดภาษาเขมร (แขมรเลอ คือ เขมรสูง หากเป็นภาษาเขมรในประเทศกัมพูชา เรียกว่า แขมรกรอม คือ เขมรต่ำ) และภาษากูย คือ สาขาหนึ่งของภาษาเขมร 3) กลุ่มวัฒนธรรมไทยเบิ้ง คือ กลุ่มชนที่พูดภาษาไทยโคราช ซึ่งเป็นภาษาไทยมาตรฐานที่มีสำเนียงเพี้ยนเหน่อ และมีคำศัพท์เฉพาะถิ่นอยู่บ้างไม่มากนัก นอกจากนี้ยังมีชนกลุ่มน้อยอันเป็นกลุ่มวัฒนธรรมย่อยของกลุ่มวัฒนธรรมทั้งสามดังกล่าวอีกส่วนหนึ่ง
    สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน (2542) จำนวน 15 เล่มเล่ม 1 กง: ขนม[เขมร] – เกษตรวัฒนา, พระ; เล่ม 2 เกษตรวิสัย, เมือง – ค้ำโพธิ์ ค้ำไทรฯ[โคราช], พิธี; เล่ม 3 ค้ำโพธิ์, ค้ำไฮ: พิธีกรรม – ชัยภูมิ, อำเภอเมือง; เล่ม 4 ชัยภูมิพิทักษ์, วัด – ตีข่า[ค้าทาส]; เล่ม 5 ตีเนียง: ตำรา – เทศน์แหล่; เล่ม 6 เทศาภิบาล, ข้าหลวง – น้ำศักดิ์สิทธิ์ในภาคอีสาน; เล่ม 7 นิคมคำสร้อย, อำเภอ – ประจักษ์ศิลปาคม, กรมหลวง; เล่ม 8 ประจันตประเทศธานี, พระยา – พงศาวดารเมืองสกลนคร; เล่ม 9 พญาคันคาก – ไพหญ้า; เล่ม 10 ฟ้อนผู้ไทย – มีเนิก: นิทาน; เล่ม 11 มื้อเก้ากอง: ฤกษ์ยาม – เล่นสาว: ประเพณี; เล่ม 12 เลย, จังหวัด – ศูนย์วัฒนธรรมอีสานใต้; เล่ม 13 สกลนคร, จังหวัด – สุริวงศ์: วรรณกรรมนิทาน; เล่ม 14 สุรินทร์: ข้าหลวงฯ – หอแจก[ศาลาการเปรียญ]; เล่ม 15 หอนางอุสา: โบราณสถาน – โฮล[ลายซิ่นเขมร]
    สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน (ฉบับเพิ่มเติม) (2554) จำนวน 3 เล่มเล่ม 1 กงสุลฝรั่งเศสในภาคอีสาน – ไทยแสกบ้านบะหว้า (อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม); เล่ม 2 ธรรมราชานุวัตร (กันโตภาสเถระ), พระ – มหาธรรมิกราช, สมเด็จพระ; เล่ม 3 มหาพุทธาราม, วัด – เฮือนผี-เฮืนแฮ่ว (อัฐิบรรพบุรุษ)

    สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคกลาง
    สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคกลาง เป็นแหล่งรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตและภูมิปัญญาของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในภาคกลาง ซึ่งมีทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม และมีทั้งที่เป็นลักษณะเฉพาะถิ่นเฉพาะกลุ่มชนและที่เป็นลักษณะร่วม ครอบคลุมพื้นที่ 35 จังหวัด ได้แก่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี สระบุรี ชัยนาท ลพบุรี กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นครนายก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี ตราดและสระแก้ว
    วัฒนธรรมในที่นี้หมายถึง วิถีชีวิตของกลุ่มชน ซึ่งประกอบด้วยพฤติกรรมและสิ่งที่คนในกลุ่มหรือหมู่ผลิตหรือสร้างขึ้น ด้วยการเรียนรู้จากกันและกัน และร่วมใช้อยู่ในกลุ่ม
    สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง (2542) จำนวน 15 เล่มเล่ม 1 กก: พืช – ไกลบ้าน, พระราชนิพนธ์; เล่ม 2 ขด: เครื่องใช้ – ค้างคาว: สัตว์; เล่ม 3 ค้างคาวกินกล้วย, เพลง – จิตรกรรมกระบวนจีน; เล่ม 4 จิตรกรรมไทย – ชื่น หัตถโกศล, นาย; เล่ม 5 ชุดดักปลา: เครื่องใช้ – ไถนา: การเล่น; เล่ม 6 ทบศอก, ขนม – นครสวรรค์, วัด; เล่ม 7 นครหลวง, อำเภอ – บุหงา; เล่ม 8 บุหลันลอยเลื่อน, เพลง – พรหมพิราม, อำเภอ; เล่ม 9 พรหมาภิบาล (ทองใบ สุวรรณภารต), พระยา – พิชัยสงคราม, ตำรา; เล่ม 10 พิทักษ์เทเวศร์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ – มอญในภาคกลาง; เล่ม 11 มอญในอุทัยธานี – ระบบศักดินา; เล่ม 12 ระบำ – วชิราวุธวิทยาลัย, โรงเรียน; เล่ม 13 วรเชษฐาราม, วัด – สมุทรปราการ, จังหวัด; เล่ม 14 สมุทรโฆษคำฉันท์ – หม้อทะนน: ภาชนะ; เล่ม 15 หม่อม – โฮกปี๊บ: การเล่น
    สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง (ฉบับเพิ่มเติม) (2554) จำนวน 3 เล่มเล่ม 1 ก.สุรางคนางค์ – บางพระ, วัด; เล่ม 2 บ้านโซวเฮงไถ่ – ฤาษีเปิดหน้า-ปิดหน้า; เล่ม 3 ละครตลกนายเนตร นายต่าย – โองการสารเดชวิธีน้อย

    สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้
    เป็นงานประมวลข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับวัฒนธรรมทุกแขนงของกลุ่มชนย่อยและกลุ่มชนใหญ่ของคนไทยในภาคใต้ คลุมเขตพื้นที่ 14 จังหวัด คือ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนาธิวาส
    วัฒนธรรมตามนัยของสารานุกรมนี้หมายถึง สิ่งทั้งปวงที่กลุ่มชนในภาคใต้สืบทอดและสร้างเสริมต่อ ๆ กันมา ทั้งที่ปรากฏเป็นรูปลักษณธให้มองเห็นได้และที่เป็นรูปแบบซึ่งเชื่อถือและแสดงออกร่วมกัน ตลอดถึงกิจกรรมหรือพฤติกรรมร่วมของกลุ่มชนน้อยใหญ่ในภาคใต้ รวมทั้งทรัพยากรบุคคลและงานประดิษฐ์คิดค้นบางอย่างอันได้รับหรือส่งอิทธิพลซึมซับสัมพันธ์ต่อวิถีชีวิตของกลุ่มชน ไม่ว่าประดิษฐกรรมนั้น ๆ จะเกิดจากทรัพยากรบุคคลที่มีถิ่นกำเนิดในภาคใต้หรือไม่ก็ตาม
    สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ (2542) จำนวน 18 เล่มเล่ม 1 ก ข้อก กา สุภาษิต – เกาะ, เรือ; เล่ม 2 เกาะ: อายัด – ค้อ,ปลา; เล่ม 3 คอกช้าง: การจับช้างเถื่อน – จับ ฐิตธมโม; เล่ม 4 จับ: พืช – ชาบ้าน; เล่ม 5 ชาพระธาตุ – ต่องย่องสู, ศาลเจ้า; เล่ม 6 ตองแห้ง: พืช – ทะเลสองห้อง; เล่ม 7 ทะเลสาบสงขลา – ธุระไม่ใช่: นิทาน; เล่ม 8 นกกระจาบ: วรรณกรรม – บือบื๋อ: การเล่นของเด็ก; เล่ม 9 บุก: พืช – ปาล์มน้ำมัน, พืช; เล่ม 10 ป่าลิไลยก์(อำเภอไชยา), วัด – พระพุทธนวราชบพิตร; เล่ม 11 พระพุทธนิมิต – ไฟไหม้ลาม: เรื่องสั้น; เล่ม 12 ภควตา – เมืองพระเวียง; เล่ม 13 เมืองพังงา, อำเภอ – เรือขุดแร่; เล่ม 14 เรือครัว – วักด้ำ; เล่ม 15 วัง, วัด – สงฆ์ภาคทักษิณ, วิทยาลัย; เล่ม 16 สงสน ไชยเดช – สุนัต; เล่ม 17 สุบินสำนวนเก่า: วรรณกรรม – หาดใหญ่, อำเภอ; เล่ม 18 หาบข้าว – เฮฮากับสะหม้อ
    สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ (ฉบับเพิ่มเติม) (2554) จำนวน 3 เล่มเล่ม 1 กระจ่าง จันทร์สังข์ – เต่าทะเล; เล่ม 2 ถลาง, อำเภอ – แพทย์พื้นบ้านภาคใต้; เล่ม 3 ภาคใต้ – ไอ้วก : ตัวตลกหนังตะลุง

    อภินันทนาการจาก ห้องสมุดสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์

November 2015

หนังสือทรัพยากรการท่องเที่ยวไทย.jpg
    หนังสือทรัพยากรการท่องเที่ยวไทย ชุดภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคเหนือและภาคใต้
    Touring Thailand: Central, East, North and South.
    Recommended for tourists: information on 60 provinces with geography, history, people, art and culture
    .
    ประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอยู่มากมายในทุกจังหวัดทั่วทุกภูมิภาค และเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการหาข้อมูล การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงได้จัดรวบรวมข้อมูลของสถานที่ท่องเที่ยวในแต่ละจังหวัด และให้ความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรการท่องเที่ยวในจังหวัดต่าง ๆ ประกอบไปด้วยข้อมูลภูมินิเวศ ข้อมูลท้องที่ตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ กลุ่มชาติพันธ์ ชุมชน และศิลปวัฒนธรรม แยกเป็นหมวดหมู่ตามภูมิภาคและจังหวัดต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 60 จังหวัด (ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคเหนือ และภาคใต้)
    พร้อมแผ่น CD-ROM ประกอบจำนวนจังหวัดละ 1 ชุด
    อภินันทนาการจาก กองส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

October 2015

ญาณสังวรธรรม.jpg
    หนังสือชุด “ญาณสังวรธรรม”
    A celebration in honor of Somdet Phra Yanasamvara 100 years anniversary. Series of literary works written by the Supreme Somdet Phra Yanasamvara, published in 29 volumes on his preaching scripts, Dharma speeches, prose, teaching, religious documents, religious history, and Buddhist fiction.
    คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองพระชันษา สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ๑๐๐ ปี ได้จัดพิมพ์หนังสือชุด “ญาณสังวรธรรม” เพื่อเป็นที่ระลึกและธรรมานุสรณ์เฉลิมพระเกียรติคุณ เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ให้ปรากฏยั่งยืนและใช้เป็นประโยชน์ในการศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาสำหรับพุทธศาสนิกชนต่อไป
    หนังสือชุด “ญาณสังวรธรรม” มรดกล้ำค่าจากสังฆราชา คำว่า ปัญญา เป็นภาษามคธ กับคำว่า ปรัชญา ในภาษาสันสกฤต เป็นคำเดียวกัน พระพุทธเจ้าตรัสว่า “แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี” เพราะไม่มีแสงอะไรที่จะส่องให้เห็นความจริงทั้งหลายได้เหมือนอย่างแสงปัญญา เพียงแต่ละคิดเลขสักข้อหนึ่งจะใช้แสงอะไรส่องให้เห็นได้ นอกจากใช้ปัญญาคิด

    “พระนิพนธ์” ของเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร จึงเปรียบเสมือนมรดกอันล้ำค่าที่ทรงทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ประมวลพระนิพนธ์ของเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร เป็นหนังสือชุดใหญ่รวม 29 เล่ม แบ่งเป็นประเภทตามลักษณะพระนิพนธ์ 7 ประเภท ได้แก่
    1. พระธรรมเทศนา
    2. ธรรมบรรยาย
    3. ความเรียงธรรมะ
    4. พระโอวาท
    5. ศาสนคดี
    6. ประวัติและตำนาน
    7. ธรรมนิยาย
    อภินันทนาการจาก สำนักพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม กรมการศาสนา

June 2015

ชีวิตติดปัญญา.jpg
    หนังสือ “ชีวิตติดปัญญา (Wisdom of Living)”
    Wisdom of Living: A new year’s gift from Chulalongkorn University for Chula community and the public.
    The book guides us how to live happily with buddist concepts as a road map to understand and to prepare for things that may happen in various steps of life.

    ธรรมสถานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดพิมพ์หนังสือพิเศษประจำ ปี 2558 เรื่อง “ชีวิตติดปัญญา (Wisdom of Living)” จำนวนหนึ่ง เพื่อเผยแพร่มอบเป็นความสุขปีใหม่และธรรมบรรณาการ แก่สมาชิกในประชาคมจุฬาฯ และผู้สนใจทั่วไป หนังสือเล่มดังกล่าวนี้เขียนขึ้น ให้เป็นเสมือนแผนที่ของชีวิต มุ่งทำความเข้าใจเรื่องราวของชีวิตในช่วงต่าง ๆ และแง่มุมต่าง ๆ ที่จะต้องเผชิญ ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงบั้นปลาย ตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา รวมถึงศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อที่จะได้มองเห็นภาพของชีวิตตลอดสาย และรู้จักตระเตรียมการฝึกฝนอบรมตนและความพร้อมต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะทำให้การดำเนินชีวิตในทุกขั้นตอน เป็นไปด้วยดี และประสบความสุขความสำเร็จอย่างสูง
    AUTHOR: สุรพล ไกรสราวุฒิ
    อภินันทนาการจาก ธรรมสถานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

2014

January 2014

นกเงือก-มรดกไทย-มรดกโลก.jpg
    หนังสือ “นกเงือก มรดกไทย มรดกโลก” Hornbill – Thailand and World Heritage
    บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ได้จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่ภาพชีวิตของนกเงือกและเพื่อนร่วมป่าในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และแจกแก่สถานศึกษา ห้องสมุดประชาชน ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้ใช้ศึกษาเกี่ยวกับชีวิตนกเงือกและสัตว์ป่า คุณค่าของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะผืนป่ามรดกโลกให้คงอยู่คู่คนไทยตลอดไป
    AUTHOR พิไล พูลสวัสดิ์ http://www.sc.mahidol.ac.th/academics/staff/AC_p/Pilai_P.htm
    IMPRINT กรุงเทพฯ : โครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2555
    http://www.sc.mahidol.ac.th/tha/research/hornbill.htm
    อภินันทนาการจาก ศาสตราจารย์ ดร. กวี รัตนบรรณางกูร

June 2014

สมุดภาพแผนที่กรุงเทพฯ.jpg
    หนังสือ “สมุดภาพแผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๔๕๐ – ๒๕๕๐” The Illustrated Map of Bangkok B.E.2450-2550
    กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาค้นคว้ารวบรวมแผนที่กรุงเทพมหานคร มาตราส่วน 1:1,000 ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้กรมแผนที่ กระทรวงเกษตราธิการ จัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2450 โดยรวบรวมข้อมูลที่กระจายอยู่ตามแหล่งข้อมูลต่าง ๆ นำมาปรับปรุงให้มีความชัดเจนจนเป็นประจักษ์พยานสำคัญ แสดงสภาพทางกายภาพของกรุงเทพมหานครเมื่อ 100 ปีที่แล้ว และนำมาศึกษาเปรียบเทียบกับแผนที่กรุงเทพมหานครในปัจจุบัน ซึ่งสะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงของพระนครในรอบศตวรรษที่ผ่านมาอย่างชัดเจน เนื่องจากที่ผ่านมากรุงเทพมหานครในฐานะที่เป็นเมืองหลวง ศูนย์กลางการปกครอง เศรษฐกิจ และการพาณิชย์ของประเทศ มีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพอย่างมาก ทั้งด้านพื้นที่ ความหนาแน่น ด้านการตั้งถิ่นฐาน สภาพแวดล้อม ตลอดจนองค์ประกอบทางกายภาพเมือง ได้แก่ แม่น้ำ ลำคลอง ถนน อาคาร และสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ

    ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระอัจฉริยภาพด้านงานแผนที่ โดยทรงใช้งานแผนที่ในพระราชกรณียกิจนานัปการที่เกี่ยวข้องกับปัญหาของบ้านเมือง และด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย กรุงเทพมหานครจึงจัดทำสมุดภาพแผนที่หนึ่งศตวรรษกรุงเทพมหานครขึ้น เพื่อเทิดพระเกียรติแด่พระองค์ท่าน โดยจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป สำหรับหนังสือสมุดภาพแผนที่หนึ่งศตวรรษกรุงเทพมหานครมีขนาดรูปเล่ม 48 x 60 เซนติเมตร จำนวน 98 หน้า ปกหนังสือหุ้มผ้าไหมสีเหลือง ปั้มฟอยส์ทอง ปกหน้าติดตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ประดับพลอยสีขาว 80 เม็ด เพื่อเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และเอกสารวิชาการด้านแผนที่ รวมทั้งแสดงถึงพัฒนาการของกรุงเทพมหานครในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา

    “กรุงเทพมหานครหวังให้สมุดภาพแผนที่เล่มนี้ เป็นประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้า และส่งเสริมการเรียนรู้ในเรื่องของแผนที่และภาพถ่ายทางอากาศสำหรับผู้ที่สนใจ โดยจะจัดทำสมุดภาพแผนที่หนึ่งศตวรรษกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,000 เล่ม เพื่อแจกจ่ายให้กับส่วนราชการต่างๆ และห้องสมุดในสังกัดกรุงเทพมหานครทุกแห่ง และในอนาคตจะจัดทำเป็นรูปแบบวีซีดีเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนต่อไป” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าว
    อภินันทนาการจาก สำนักผังเมือง

July 2014

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว-กับ-คณะองคมนตรี.jpg
    หนังสือ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับ คณะองคมนตรี” His Majesty the King and the Privy Council

    เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุ 7 รอบในวันที่ 5 ธันวาคม 2554 นับเป็นมหามงคลสมัยอันพิเศษยิ่ง ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ ที่ทรงมีต่อประชาชนชาวไทยและประเทศชาติมาโดยตลอดระยะเวลาแห่งการครองสิริราชสมบัติ คณะองคมนตรีจึงมีดำริร่วมกันจัดทำหนังสือ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับ คณะองคมนตรี” เพื่อเฉลิมพระเกียรติ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับความเป็นมาของคณะองคมนตรี บทบาทและหน้าที่ของคณะองคมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 รวมบทความที่องคมนตรีแต่ละคนในคณะองคมนตรีปัจจุบัน บรรจงเรียงร้อยเรื่องราว ถ่ายทอดเหตุการณ์ และความรู้สึกประทับใจในการถวายงานใต้เบื้องพระยุคลบาท ในมุมมองและลีลาการเรียบเรียงที่หลากหลาย แตกต่างกันไปตามประสบการณ์ของแต่ละคน ซึ่งล้วนสะท้อนให้เห็นถึงแนวพระราชดำริที่ลึกซึ้ง เบื้องหลังพระราชกรณียกิจและโครงการตามพระราชดำริ น้ำพระราชหฤทัยที่ทรงรักและห่วงใยพสกนิกร ตลอดจนพระราชจริยวัตรอันงดงามในการทรงงานเพื่อความสุขสวัสดีของพสกนิกรและความวัฒนาสถาพรของประเทศ พร้อมประวัติย่อขององคมนตรีแต่ละคนในคณะองคมนตรีปัจจุบัน หนังสือ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอย่หัว กับ คณะองคมนตรี” เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่ายิ่ง ซึ่งได้จารึกเรื่องราวและเหตุการณ์สำคัญในรัชกาลปัจจุบัน มิให้เลือนหายไปตามกาลเวลา

    ใน 1 ชุด ประกอบไปด้วยหนังสือภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน เพื่อประโยชน์สำหรับการค้นคว้าอ้างอิงในภายภาคหน้าและอาจสร้างแรงบันดาลใจหรือเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ผู้อ่าน ในการทำคุณงามความดี ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ทั้งแก่ตนเอง ครอบครัว และประเทศชาติสืบไป
    IMPRINT กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง, 2555
    อภินันทนาการจาก ท่านองคมนตรีศาสตราจารย์นายแพทย์เกษม วัฒนชัย